การใช้ภาษาอังกฤษ จากประสบการณ์จริง ตอนที่ 3

หลักการใช้ภาษาอังกฤษ: เสียงที่เป็นปัญหากับเราคนไทยก็คือ R และ V สำหรับพยัญชนะต้น ฉันเพิ่งมาตระหนักเรื่องเสียงตัว V ก็เมื่อมาอยู่ที่นี่เอง ส่วนตัว R นั้นรู้ๆกันอยู่แล้ว เพราะเสียงก้องของตัว R ก็ไม่เหมือนตัว ร ของเรา

สำหรับตัว V ซึ่งเรามักจะออกเสียงเหมือนตัว ว นั้นเป็นความผิดอย่างมหันต์ทีเดียว เพราะหาฝรั่งฟังเรารู้เรื่องแทบไม่ได้เลย ยิ่งถ้าเราพูดคำที่นำหน้าด้วย V โดยไม่มีส่วนประกอบอื่นๆในประโยคด้วยแล้ว หายห่วงเลย ต้องอธิบายกันนาน ถึงอาจจะต้องเขียนให้ดูเลย เขาออกเสียงตัว V เหมือนเราออกเสียง ฝ มากกว่า ว

ส่วนตัวสะกดนั้นมีมากมาย เพราะภาษาไทยของเราไม่มีการออกหางเสียงตัวสะกด ในขณะที่ภาษาอังกฤษนั้นเต็มไปด้วยเสียงสุดท้ายต่างๆนาๆ เรามักจะจบคำด้วยการปิดปากแทนที่จะส่งเสียงสุดท้ายเหล่านั้น เช่น map, left, best ซึ่งต้องออกเสียงว่า แมพเพอะ (ออกเสียง เพอะค่อยๆ แต่ต้องออกเสียง ไม่ใช่แมพ แบบที่เราชอบพูด), เลฟเทอะ (ออกเสียงเทอะค่อยๆเหมือนกัน), เบสซึทึ (ต้องมี “ซึทึ” เบาๆ มิฉะนั้นอาจโดนเข้าใจว่าเราพูดถึง เบส –base)

อีกเรื่องที่ฉันนึกได้ในตอนนี้ก็คือ การเน้นพยางค์ในคำ เรามักจะเน้นเสียงผิดที่ ซึ่งทำให้ฝรั่งงง คงจะเหมือนเวลาเราฟังฝรั่งพูดไทย แต่เราฉลาดกว่าเพราะเราพยายามเดาว่าฝรั่งพูดอะไร เช่น ขาว ข่าว ข้าว ในขณะที่ฝรั่งมักจะไม่ทันคิดว่า เราเน้นเสียงผิดที่ซึ่งจะกลายเป็นเหมือนเราพูดคำที่มันไม่มีตัวตนไปเลย เพราะเขาไม่พูดกันแบบที่เราพูด ดังนั้นเรื่องนี้ออกจะเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว

คำที่ฉันพบมากับตัวเองและจำได้ไม่ลืมเลยก็คือ proposal เรามักจะได้ยินนักศึกษาไทยพูดกันเสมอๆว่า พรอพโพซอล แต่ฝรั่งจะออกเสียงว่า โพรโพสซอล ซึ่งเน้นที่พยางค์ที่สองในขณะที่เราเน้นพยางค์ที่หนึ่ง คำนี้ถ้าหากคุยกับนักเรียนไทยที่นี่ จะพบว่าแทบทุกคนเจอปัญหานี้มาแล้วทั้งนั้น ทั้งๆที่มันเป็นคำที่ออกจะมีความหมายในตัวเอง อาจารย์น่าจะเดาออกว่าเราพูดถึงอะไร แต่ขอโทษทีที่การออกเสียงแบบของเรานั้น ทำเอาคำนี้เป็นคำประหลาดที่ไม่มีตัวตนไปเลย

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือคำว่า standard พวกเราชินที่จะออกเสียงคำนี้ซึ่งเรามักจะใช้ทับศัพท์ว่า สะแตนดาด ฝรั่งฟังแล้วงง เขาจะออกเสียงว่า สะแตนเดิด เพราะฉะนั้นถ้าหากเราจะใช้ทับศัพท์ เราน่าจะออกเสียงที่เจ้าของภาษาเขาใช้กันจริงๆ มากกว่าแบบที่เราใช้อยู่ เพราะเมื่อติดปากเสียแล้ว โอกาสที่จะพูดให้เขาฟังรู้เรื่องโดยธรรมชาตินั้นยากจริงๆ ฉันต้องคอยคิดเสมอเมื่อจะพูดคำที่เรามักใช้ทับศัพท์แต่ออกเสียงผิดๆมาจนเคยตัว

พวกเรามักจะหาว่าคนที่กลับมาจากเมืองนอกพูดดัดจริต แต่ฉันว่าถ้าเราเรียนภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับเจ้าของภาษา เราน่าจะเรียนวิธีการออกเสียงให้ถูกต้องตรงกับที่เจ้าของภาษาเขาใช้ ดีกว่าเรียนออกเสียงแบบไทยๆ ซึ่งเมื่อต้องเอามาใช้งานจริงๆ ความที่เรียนมาแบบผิดๆติดเสียแล้ว ไม่เป็นธรรมชาติ ก็เลยจะต้องมาเสียเวลาจำกันใหม่

จึงขอฝากมาในบทความนี้ว่า ให้พวกเราพยายามส่งเสริมการเรียนออกเสียงให้ตรงตามเสียงที่เขาใช้กันจริงๆ เพื่อให้ความรู้ศัพท์มากมายที่เราเรียนกันมาได้ใช้ประโยชน์ตรงตามวัตถุประสงค์ของการเรียนภาษา และสำหรับผู้ที่ได้พบปัญหามาโดยตรง โปรดช่วยกันจดจำและถ่ายทอดสู่เพื่อนร่วมชาติของเราเพื่อให้เสียงที่ถูกต้องแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ

ย่อหน้าสุดท้ายคือสิ่งที่อยากฝากไว้อีกครั้ง ถึงคุณครูที่สอนเด็กๆ ให้เขารู้ว่าเสียงที่ฝรั่งออกจริงๆนั้นต่างจากคำทับศัพท์ที่เราใช้กันบ่อยๆ ส่วนผู้ใหญ่อย่างเราๆก็จะได้ระมัดระวังว่า คำที่เราใช้กันบ่อยๆบางคำ เวลาออกเสียงให้ฝรั่งฟังจริงต้องเปลี่ยนเสียงให้ถูกต้องด้วย จะได้ไม่ต้องเสียอารมณ์เหมือนที่พวกเราหลายๆคนโดนกันมาแล้ว

ที่มา http://gotoknow.org/blog/english-usage/61919

แชร์ให้เพื่อน