นักศึกษาไทยต่างแดนภาษาแย่ กว่าครึ่ง

นักศึกษาต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย ที่จบจากมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย จำนวนมากกว่า 1 ใน 3 มีทักษะภาษาอังกฤษที่แย่มากถึงขนาดที่ว่า ไม่ควรจะได้รับเข้ามหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำ งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2550 ระบุ

งานศึกษาโดย บ็อบ เบอร์เรล ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาช ในเมืองเมลเบิร์น พบว่า นักศึกษาไทยและเกาหลีใต้มากกว่า 50% ไม่มีทักษะภาษาอังกฤษที่เพียงพอต่อการทำงานอย่างมืออาชีพในออสเตรเลีย เช่นเดียวกับบัณฑิตชาวจีนมากกว่า 43%

นักศึกษาประมาณ 17% ที่มาจากสิงคโปร์และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่พูดภาษาอังกฤษอย่างกว้างขวางกว่า ก็มีทักษะไม่ถึงระดับที่กำหนดไว้ โดยรวมแล้ว นักศึกษาต่างชาติซึ่งกำลังจะจบการศึกษาและได้รับวีซ่าผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในปี 2006 จำนวน 34% มีทักษะภาษาอังกฤษที่ไม่แข็งแรง

เบอร์เรลกล่าวว่า บัณฑิต 12,000 คนที่เข้าทดสอบให้ผลสำรวจชิ้นนี้ เกือบทั้งหมดเป็นชาวเอเชีย เพราะนักศึกษาเหล่านี้มักยื่นขอวีซ่าผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรขณะศึกษาอยู่มากที่สุด จากผู้ที่เข้าทดสอบ นักศึกษาจากเกาหลีใต้ เป็นผู้ทำคะแนนได้แย่ที่สุด โดย 55.5% ไม่ผ่านมาตรฐานภาษาอังกฤษที่กำหนดไว้ ตามมาด้วยนักเรียนไทย 50.9%, เนปาล 47.9%, ไต้หวัน 47.4%, จีน 43.2%, ฮ่องกง 42.9%, บังกลาเทศ 42%, ญี่ปุ่น 36.8%, เวียดนาม 32.9%, อินโดนีเซีย 32%, ศรีลังกา 25.1%, ปากีสถาน 24.8%, มาเลเซีย 23.5%, สิงคโปร์ 17.8% และอินเดีย 17.3%

อย่างไรก็ตาม เบอร์เรลกล่าวว่าเขาเชื่อว่างานศึกษาชิ้นนี้ เป็นตัวแทนของนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวเอเชียเป็นนักเรียนต่างชาติกลุ่มใหญ่ ที่เสียค่าเล่าเรียนให้แก่มหาวิทยาลัยของออสเตรเลีย
“มันเป็นการสร้างข้อกังขาเกี่ยวกับมาตรฐานของมหาวิทยาลัย” เบอร์เรลกล่าวกับเอเอฟพี

ทางด้าน จูลี บิชอป รมต.กระทรวงศึกษาธิการของออสเตรเลีย โต้แย้งว่า งานศึกษาดังกล่าวเป็น “การโจมตีมหาวิทยาลัยของเราด้วยวิธีแปลกประหลาดของอาจารย์เบอร์เรล” “นักเรียนต่างชาติต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลด้านภาษา จึงจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียได้”

งานศึกษาชิ้นดังกล่าวพบว่า บัณฑิตที่เข้าทดสอบทั้งหมดมีความรู้ภาษาอังกฤษมากพอที่จะรับมือกับสถานการณ์เกือบทั้งหมด “แต่คนที่ผ่านเกณฑ์นี้ก็ยังไม่สามารถสนทนาอย่างลึกซึ้งในระดับมืออาชีพได้” งานศึกษาระบุ มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียต้องพึ่งพานักเรียนต่างชาติเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาเป็นแหล่งสนับสนุนเงินทุน 15% ของมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดข้อชวนคิดว่า มหาวิทยาลัยยอมเอามาตรฐานทางวิชาการเข้าแลกกับผลตอบแทนทางการเงินหรือเปล่า

เบอร์เรลกล่าวในรายงานของเขาว่า มีตัวอย่างหลักฐานมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า นักเรียนต่างชาติจำนวนมากกระเสือกกระสนให้ตนมีคุณสมบัติตามข้อกำหนด และมหาวิทยาลัยก็ช่วยเหลือด้วยการลดระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษของรายวิชาต่างๆ “ปัญหาภาษาอังกฤษเป็นที่รู้กันดี” เบอร์เรลกล่าว แต่มหาวิทยาลัยค่อนข้างลังเลที่จะบังคับให้นักศึกษาเหล่านั้นเรียนภาษาเพิ่ม เพราะจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้นอีก และจะกลายเป็นว่า มีเสน่ห์ดึงดูดใจน้อยกว่ามหาวิทยาลัย

กระนั้นก็ตาม อาจารย์ เจอราร์ด ซัตตัน ประธานคณะกรรมาธิการรองอธิการบดี ของออสเตรเลีย แย้งว่า นักเรียนต่างชาติส่วนมาก มีทักษะเรียนภาษาอังกฤษด้านการอ่าน เขียน และฟัง “ผมคิดว่า สิ่งที่เห็นเด่นชัดก็คือ การขาดทักษะด้านการพูด” เขากล่าวกับเอเอฟพี และบอกด้วยว่า การขาดทักษะด้านนี้จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการสำเร็จวิชาในมหาวิทยาลัย

ที่มา ผู้จัดการรายวัน

แชร์ให้เพื่อน