นายกสมาคม ร.ร.นานาชาติ เผย ร.ร.นานาชาติเปิดใหม่เฉพาะปี 47 มีถึง 5-6 แห่ง เพื่อรองรับเด็กไทยที่แห่เรียนเพิ่มถึง 20% ชี้ต้นเหตุการศึกษาไทยล้มเหลว หลักสูตรพัฒนา แถมผู้บริหาร ศธ.กับนักวิชาการไม่ฟันธงสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่อนุบาลหรือประถม ขณะที่พ่อแม่ต่างดิ้นรนเพื่อให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล
ม.ล.ปรียดา ดิศกุล ผอ.ร.ร.บางกอกพัฒนา ในฐานะนายกสมาคม ร.ร.นานาชาติแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “คม ชัด ลึก” ว่า ปัจจุบัน สมาคมสมาชิกโรงเรียนนานาชาติประมาณ 70 แห่ง โดยเก็บค่าเล่าเรียนตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาทต่อปี มีนักเรียนรวมทั้งสิ้น 20,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กไทยถึง 10,000 คน ซึ่งในปี 2547
พบว่ามีผู้ขอยื่นขอใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อเปิดโรงเรียนนานาชาติจำนวน 5-6 แห่ง เนื่องจากผู้ปกครองที่เป็นคนไทย ให้ความสนใจส่งลูกหลาน เข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นถึง 20% ทำให้ ร.ร.นานาชาติ ที่มีอยู่รองรับไม่ได้ เนื่องจากมาตรฐาน ร.ร.นานาชาติจะจัดการศึกษาให้ได้คุณภาพ ไม่ควรมีเด็กเกิน 2,000 คน
“ดิฉันคิดว่าการที่คนไทยนิยมส่งลูกเข้าเรียน ร.ร.นานาชาติมากขึ้น เพราะการศึกษาไทยล้มเหลว โดยเฉพาะหลักสูตรการศึกษาไม่ได้รับการพัฒนา เช่น ภาษาอังกฤษ ผู้บริหาร ศธ. และนักวิชาการยังคงถกเถียงกันอยู่ว่า ควรจะสอนเด็กตั้งแต่อยู่อนุบาลหรือประถม
ทั้งที่จริงควรเริ่มเมื่อเด็กเรียนอนุบาล ดังนั้น เมื่อผู้ปกครองที่มีฐานะดีมีทางเลือกอื่น จึงเลือกที่จะส่งลูกเข้าเรียน ร.ร.นานาชาติ เพื่อเด็กจะได้เก่งภาษาอังกฤษ ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าให้ลูกไปเรียนต่อเมืองนอกที่ต้องเสียปีละ 1-1.5 ล้านบาทต่อปี” นายกสมาคม ร.ร.นานาชาติ กล่าว
ม.ล.ปรียดา กล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลด้านอาคาร สถานที่ ครู อาจารย์และหลักสูตรของ ร.ร.นานาชาติ มีสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) คอยดูแลอยู่แล้ว ซึ่ง ร.ร.นานาชาติที่เปิดใหม่
หากจะเข้าเป็นสมาชิกสมาคมจะต้องได้รับใบอนุญาตและผ่านการประเมินมาตรฐานด้านต่างๆ จาก สช.ก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ร.ร.นานาชาติส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนครูสอนวิชาภาษาไทยและพลศึกษา เนื่องจากครูวิชาเหล่านี้มีผู้ที่มีพื้นฐานวิชาภาษาอังกฤษในระดับดีมีน้อย
แหล่งที่มา คมชัดลึก ฉบับที่ 961 [หน้าที่ 12 ] ประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2547